วิปัสสนากัมมัฏฐาน (Insight meditation) มาจากคำว่า วิปัสสนากัมมัฏฐาน วิปัสสนาประกอบด้วย วิ + ปัสสนา

คำว่า วิ แปลว่า อาการหลายอย่าง และอาการพิเศษ

ส่วนปัสสนา แปลว่า การเห็น จึงหมายถึง การเจริญภาวนาอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดการเห็นแจ้งโดยอาการหลายอย่าง และอาการพิเศษในสภาวธรรม

กัมมัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งแห่งการทำความเพียรที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยเพื่อให้บรรลุคุณวิเศษ คือ ฌาน มรรค ผล นิพพาน
ในการเจริญวิปัสสนาจะต้องมีการกำหนดเพื่อให้เห็นแจ้งในอาการหลายอย่าง ซึ่งได้แก่พระไตรลักษณ์นั้นเอง พระไตรลักษณ์ได้แก่ อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง (Impermanence) ทุกขัง คือ ความทนอยู่ไม่ได้ (suffering) และอนัตตา คือ ความไมใช่ตัวตน หรือความบังคับบัญชาไม่ได้ (non-sel!)

ส่วนอาการพิเศษนั้น คือ การกำหนดอารมณ์ของวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือ รูปนาม ซึ่งเป็นอารมณ์ต่าง ๆ ที่มาปรากฎทางทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ โดยความเป็นอนิจจัง
ทุกขัง และอนัตตา เช่นเดียวกัน

ดังนั้น คำว่า “วิปัสสนากัมมัฏฐาน” หมายถึง การกระทำอันเป็นที่ตั้งแห่งการเห็นแจ้งในรูปนาม โดยความเป็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา องค์ธรรมของวิปัสสนากัมมัฏฐานได้แก่ ปัญญาเจตสิก ในอีกความหมายหนึ่ง วิปัสสนามาจากคำสองคำ คือ วิ แปลว่า แจ้งหรือชัด กับ ปัสสนา แปลว่าการเห็น วิปัสสนา จึงหมายถึง ปัญญาที่แจ้งชัดในรูปนามหรือ ขันธ์ ๕ ว่ามีลักษณะของความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่มีตัวตน เป็นภาวนามยปัญญาที่ทำให้เข้าใจถึงอริยสัจ ๔ จนบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ตามกำลังวิปัสสนาญาณ