พระธรรมธีราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ. ๙) กับระบบหนอ

ระบบกรรมฐานแบบ “พองหนอ ยุบหนอ” เป็นระบบกรรมฐานที่เกิดขึ้นในเทศไทย ภายหลังที่ พระมหาโชดก ญาณสิทฺธิเถร ป.ธ.๙ (พระธรรมธีรราชมหามุนี) ได้กลับจากพม่า ปี พ.ศ.๒๔๙๖  ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า “พองหนอ ยุบหนอ” เป็นระบบกรรมฐานที่เกิดใหม่ สังคมไทยเคยกำหนด พุทโธ หรือสัมมาอรหัง มาเป็นเวลาช้านาน ยิ่งกว่านั้น สังคมไทยยังฝังใจว่า ระบบพองหนอ ยุบหนอ เป็นของพม่า แม้พระมหาโชดก ญาณสิทฺธิเถร ป.ธ.๙ (พระธรรมธีรราชมหามุนี) จะพยายามอธิบายด้วยหลักเหตุผล ก็ไม่สามารถคลายความแคลงใจเกี่ยวกับเรื่อง หนอ หนอ ได้ และพองหนอ ยุบหนอ ก็ไม่ใช่เป็นภาษาพม่า แต่เป็นภาษาไทยที่ทุกคนเข้าใจความหมายของคำนี้ดีดังนั้น ท่านได้กล่าวถึงประโยชน์ของ “หนอ” ไว้ว่า๑. คำว่า “หนอ” มีประโยชน์สำหรับเพิ่มขณิกสมาธิ (สมาธิชั่วขณะ) ให้มีกำลังกล้าเพื่อจะให้ผู้ปฏิบัติเห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) เห็นปัจจุบันธรรมได้ดีดุจไฟนีออน ตามธรรมดา ไฟนีออนก็มีแสงสว่างดีอยู่แล้ว แต่ถ้าเพิ่มหม้อไฟเข้าไปอีกยิ่งมีแสงสว่างมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า การที่จะเพิ่มขณิกสมาธิก็เช่นเดียวกัน ตามปกติเวลากำหนดพอง ยุบก็มีขณิกสมาธิอยู่แล้ว ถ้าเพิ่มหนอเข้าไปอีกจะเป็นการถ่วงเวลาให้ช้าลงอีก สมาธิจึงมีกำลังแรงขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า เมื่อสมาธิมีกำลังแรงขึ้นก็เป็นเหตุให้เกิดปัญญาได้ง่าย เพราะปัญญามีสมาธิเป็นบรรทัดฐาน หรือการมีสมาธิเป็นเหตุให้ได้ใกล้ชิดที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้น๒. คำว่า “หนอ” มีประโยชน์สำหรับคั่นรูปนามให้ขาดเป็นระยะให้ขาดตอนให้ขาดจังหวะ เพื่อจะให้ผู้ปฏิบัติได้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น๓. ขณะที่ผู้ปฏิบัติกำหนด “พองหนอ ยุบหนอ” อยู่ กายทุจริต (ความประพฤติชั่วทางกาย) คือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี ก็ไม่มี วจีทุจริต (ความประพฤติทางวาจา) คือพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ไม่มี มโนทุจริต (ความประพฤติชั่วทางใจ) คือ จิตที่มีความโลภ จิตที่มีความพยาบาท จิตที่มีความเห็นผิด ไม่มีความบริสุทธิ์ดีทั้งไตรทวาร อันนี้จัดเป็นศีล ใจไม่เผลอจากพองยุบ เป็นสมาธิ เห็นรูปนามเป็นสิ่งที่ตกอยู่ในไตรลักษณ์ เป็นปัญญา (วิปัสสนาสารปีที่ ๘ เล่มที่ ๑ : ๒๕๐๕ หน้า ๗)ระบบการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแบบนี้ได้นำมาสอน หลังจากที่พระภาวนาภิรามเถร (สุข ปวโร) วัดระฆังโฆสิตารามได้มรณภาพลง ในวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๔๙๘ ปัญหาที่น่าคิดก็คือ กรรมฐานระบบหนอนี้ มิใช่จะคิดกันง่าย ๆ สันนิษฐานว่า น่าจะมีการตกลงปรึษาหารือกันอยู่พอสมควร ในหมู่วิปัสสนาจารย์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เกี่ยวกับการใช้คำว่า “หนอ” ดังนั้น คำว่า “หนอ” จึงเป็นสัญลักษณ์ของกรรมฐานวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ จวบจนปัจจุบันนี้เรื่อง “การกำหนดหนอ” นี้ถ้าย้อนกลับไปแหล่งเดิมคือประเทศพม่า ซึ่งเป็นสถานที่พระธรรมธีรราชมหามุนี (พระมหาโชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙) ไปปฏิบัติวิปัสสนา เราจะพบว่า ความจริงแล้วพม่าเองไม่ใช้หนอเลย ภาษาพม่าใช้คำว่า “แด่” เช่น พองแด่ เบ่งแด่ (อาจเทียบได้กับ พองหนอ ยุบหนอ) คำว่า “แด่” จริง ๆ แล้วไม่ได้แปลว่า หนอ อย่างในภาษาไทย แด่ มีความหมายบ่งบอกว่าเป็นปัจจุบันกาล เมื่อต่อท้ายกับคำตัวใดก็มีความหมายว่า เป็นกิริยาที่กำลังกระทำอยู่อนึ่งจากการค้นหาหลักฐาน “หนอ” ในตอนหลังนี้จากหนังสือบทนำในพุทธปรัชญาของศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร ผู้ชำนาญพิเศษทางภาควิชาการศาสนาและปรัชญาภารตะ บาลีสันสกฤต ฯ มหาวิทยาลัยมหาจุฬา ฯ และศิลปากร ซึ่งพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพท่านที่วัดสระเกศฯ กทม. ๒๕๑๓ (หนังสือวิปัสสนาสาร ปีที่ ๔๔ เล่มที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ หน้า ๑๕) ว่า“มูลมติ” เดิมมาจากการบรรลุพระอรหันต์ของพระอานนท์ ก่อนการสังคายนาครั้งที่ ๑ อยู่ในระหว่างที่ไม่นอน ไม่นั่ง ไม่ยืน และไม่เดิน ในสมัยใกล้รุ่ง มุ่งจะพักผ่อนอย่างมีสติ เอนตัวลงจะนอนเท้าทั้งสองพ้นจากพื้น หัวยังมิทันจรดหมอน ก็บรรลุธรรมแล้วพร้อมปฏิสัมภิทาอภิญญาฤทธิ์ท่านสำเร็จในขณะกำหนดอยู่ ศิษย์ที่สืบสายมาจึงตั้งมูลมติว่า “ขณิกวาท” เมื่อมีการสังคายนาคำสั่งของพระกัสสปเถระที่ให้พระสงฆ์ฟังสวด และสอบทานพระปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน ขึ้น แรมทางจันทรคติ แล้วแสดงความบริสุทธิ์ศีลแก่กันนั้น เรียกว่า “เถรวาท” ขณิกวาทจึงเกิดก่อน (ทั้งนี้ไม่นับ สัสสตทิฏฐิวาทะ อุจเฉททิฏฐิวาทะ นัตถิกวาทะ และอื่น ๆ สายมิจฉาทิฏฐิ) เรื่องนี้ พระสิริรัตนปัญญามหาเถรชาวนครเชียงใหม่ ลานนา (ขลเขตฺตํ) ไทย ประเทศหนเหนือจะต้องรู้วิธีการ ขณิกวาท นี้มาก่อน โดยมีแต่งไว้ในคัมภีร์วชิรสารัตถสังคหะ เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๗๘ (๔๖๓) มาแล้วว่า                                    “น นิปุนฺโน น นิสินนฺโส            น ติฏฐํ น จรมฺปิ จ                                    อรหตฺตผลํ ปตฺโต                     กตโม โส กเถถ โภ”               ซึ่งแปลว่า พระสาวกองค์ใดของพระพุทธเจ้า ไม่นั่ง ไม่นอน ไม่ยืน ทั้งไม่เดินด้วยบรรลุเป็นพระอรหันตตผลได้ ท่านผู้เจริญเอ๋ย คำตอบคือ พระอานนท์นั่งเอง                                                     จากเถรภาษิตนี้ แสดงว่า เมืองเชียงใหม่ไทยเราโบราณ ก็คงมีการเจริญวิปัสสนาแบบขณิกวาท เช่น “พองหนอ ยุบหนอ” นี้มาแล้ว ตามแนวพระอานนท์พุทธอุฏฐาก ก็เป็นมูลมติที่น่าคิด ศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร ท่านนี้สนิทสนมกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถรอดีตพระพิมลธรรม) สังฆมนตรีว่าการปกครองเป็นอย่างดี เป็นส่วนหนึ่งให้มีการกำหนดแบบบริกรรมภาวนาแนวนี้

วิธีการปฏิบัติกรรมฐาน 

            การกำหนดกรรมฐานแบบวัดมหาธาตุ คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่า เป็นแบบพองหนอ ยุบหนอ เท่านั้น ในความจริงพองหนอ ยุบหนอ เป็นเพียงอารมณ์หรือเป็นจุดหลักจุดหนึ่ง ในการกำหนดว่านั่งเจริญกรรมฐานเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดอารมณ์หลายอย่าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า จิตจะรับรู้อารมณ์อะไรชัดที่สุดก็ให้กำหนดอารมณ์นั้น ๆ หรือเราอยู่ในอิริยาบถใด ก็กำหนดอิริยาบถนั้น ตามความเป็นจริง ดังนั้น ตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ อารมณ์คือความรู้สึกเจ็บ ปวด ดีใจ เสียใจ นึกคิด ฯลฯ ก็มักจะเกิดขึ้นและก็จางหายไปสลับกันอยู่เสมอ

คนทั่วไปจึงมักคิดว่า อารมณ์เหล่านี้เป็นสิ่งแยกออกจากตัวเราหรือชีวิตจริงไม่ได้ เมื่อเรามาปฏิบัติวิปัสสนาจึงต้องกำหนดอารมณ์เหล่านี้ ตามความเป็นจริง ผลจากการกำหนดอารมณ์เหล่านี้ก็จะทำให้รู้ (เห็นแจ้ง) อารมณ์เหล่านี้ตามความเป็นจริง เมื่อเรารู้อารมณ์เหล่านี้ตามความเป็นจริงแล้วก็จะทำให้เราหมดความยึดติดในตัวตน (อัตตา) จิตจะไม่สร้างตัวตน (อัตตา) อันเป็นเหตุให้เราได้รับความทุกข์ทรมานในชีวิตอีกต่อไป ดังนั้น การกำหนด พองหนอ ยุบหนอ จึงมิใช่อารมณ์อย่างเดียวที่จะต้องกำหนดต้องกำหนดอารมณ์ทุกอย่างที่จิตรับรู้ เช่น เวลาคิดก็ให้กำหนด “คิดหนอ” เป็นต้น วิธีการปฏิบัติกรรมฐานสำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งพระธรรมธีรราชมหามุนี(โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙) แต่งไว้ในปี พ.ศ.๒๔๙๙ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตพระพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถร) เป็นผู้ตรวจแก้ดังนี้๑.    การเดินจงกรม  สอนให้เดินจงกรม เช่น “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” สอนวิธียืน วิธีกลับ๒. การนั่งสมาธิ สอนวิธีนั่งสมาธิ เช่น เวลานั่ง ให้กำหนดท้องที่พองยุบ ว่า “พองหนอ ยุบหนอ” และสอนวิธีนอน๓. การกำหนดเวทนา สอนให้กำหนดเวทนาต่าง ๆ เช่น เวลาเจ็บ ให้กำหนดว่า “เจ็บหนอ ๆ” เป็นต้น๔. การกำหนดจิต สอนให้กำหนดจิตในเวลานึกคิดอารมณ์ต่าง ๆ เช่น เวลาคิดให้กำหนด “คิดหนอ ๆ” เป็นต้น๕. การกำหนดตามทวาร สอนให้กำหนดตามทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ ดังตัวอย่างเช่น-           เวลาเห็น                      ให้กำหนด             “เห็นหนอ ๆ”–           เวลาได้ยิน                   ให้กำหนด             “ได้ยินหนอ ๆ”–           เวลาได้กลิ่น                 ให้กำหนด             “ได้กลิ่นหนอ ๆ”–           เวลาได้รส                    ให้กำหนด             “รสหนอ ๆ”–           เวลาคิด                       ให้กำหนด             “คิดหนอ ๆ”๖. การกำหนดอิริยาบถย่อย สอนให้กำหนดอิริยาบถย่อย เช่น ก้าวไป ถอยหลับ เหลียวซ้าย แลขวา คู้ เหยียด พาดสังฆาฏิ ถือบาตร ห่มจีวร นุ่งผ้า กิน ดื่ม เคี้ยว ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เดิน ยืน นั่ง นอน หลับ ตื่น พูด นั่ง เป็นต้นหมายเหตุ ในวันแรกนั้น ผู้ที่เป็นอาจารย์พิจารณาดูคนปฏิบัติก่อน ถ้าคนมีปริยัติน้อย หรือคนแก่ ให้สอนแต่เพียงเดินจงกรม นั่งกำหนดท้องพอง ยุบ กำหนดเวทนา และจิต เท่านี้ก็พอแล้วในวันต่อไป ในเวลาสอบอารมณ์จึงค่อยเพิ่มขึ้นโดยลำดับ ๆ แม้คนหนึ่งหรือเด็กก็อนุโลมตามนี้

แบบฝึกหัดที่ ๑

๑. เวลานั่ง ให้กำหนดที่ท้อง ซึ่งพองขึ้นในเวลาหายเข้าและยุบลงในเวลาหายใจออกนึกอยู่ในใจว่า “พองหนอ ยุบหนอ” ตามจังหวะที่ท้องพองและยุบ๒. เวลานอน ก็ให้กำหนดที่ท้องว่า “พองหนอ ยุบหนอ” เช่นเดียวกัน๓. เวลายืน ให้กำหนดว่า “ยืนหนอ ยืนหนอ”๔. เวลาเดินจงกรม ให้กำหนดระยะที่ ๑ “ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ” ตัวอย่างดังนี้ขณะก้าวเท้าขวาให้กำหนดว่า “ขวาย่างหนอ” ขณะก้าวเท้าซ้ายให้กำหนดว่า “ซ้ายย่างหนอ” ตาเพ่งดูปลายเท้า เมื่อเดินไปจนสุดที่จงกรมจะกลับ ให้ยืนกำหนดว่า “ยืนหนอ ยืนหนอ” จากนั้น เอี้ยวตัวกลับ ขณะเอี้ยวตัวกลับให้กำหนดว่า “กลับหนอ กลับหนอ” เมื่อกลับแล้วยืนอยู่ก็ให้กำหนดว่า “ยืนหนอ ยืนหนอ” เมื่อเดินจงกรมต่อไปก็ให้กำหนดเหมือนเดิมอีก แต่ละแบบต้องทำให้ชำนาญคล่องแคล่ว จนได้สมาธิดีก่อนแล้ว จึงทำตามแบบฝึกหัดต่อ ๆ ไป

แบบฝึกหัดที่ ๒

๑. เวลานั่ง ให้กำหนดเป็น ๓ ระยะ คือ “พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ”๒. เวลานอน ให้กำหนดเป็น ๓ ระยะ คือ “พองหนอ ยุบหนอ นอนหนอ”๓. เวลายืน ให้กำหนดว่า “ยืนหนอ ยืนหนอ” เท่านั้น จนกว่าจะเดินหรือนั่ง๔. เวลาเดินจงกรม ให้เพิ่มเป็น ๒ ระยะคือ  เดินระยะที่ ๑ ประมาณ ๓๐ นาทีก่อน เพิ่มระยะที่ ๒ คือ  “ยกหนอ เหยียบหนอ” ประมาณ ๑ ชั่วโมง ดังตัวอย่าง(๑) กำหนดระยะที่ ๑ “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” ประมาณ ๓๐ นาที(๒) กำหนดระยะที่ ๒ “ยกหนอ เหยียบหนอ” ประมาณ ๑ ชั่วโมง

แบบฝึกหัดที่ ๓

๑. เวลานั่ง ให้กำหนดเป็น ๔ ระยะ คือ “พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ” เพ่งใจจดตรงที่ถูกนั้นเป็นรูปวงกลมประมาณเท่าเหรียญ ๑ บาท ให้จิตจ่ออยู่ตรงนั้น๒. เวลานอน ให้กำหนดเป็น ๓ ระยะ คือ “พองหนอ ยุบหนอ นอนหนอ”๓. เวลายืน ให้กำหนดว่า “ยืนหนอ ยืนหนอ” เท่านั้น จนกว่าจะเดินหรือนั่ง๔. เดินจงกรม ให้เพิ่มระยะที่ ๓ “ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ” ให้เดินระยะที่ ๑ – ๒ ประมาณแบบล่ะ ๒๐ นานที แล้วให้เดินระยะที่ ๓ ประมาณ ๓๐ นาที ดังนี้(๑) กำหนดระยะที่ ๑ “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” ประมาณ ๒๐ นาที(๒) กำหนดระยะที่ ๒ “ยกหนอ เหยียบหนอ” ประมาณ ๒๐ นาที(๓) กำหนดระยะที่ ๓ “ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ” ประมาณ ๒๐ นาที

แบบฝึกหัดที่ ๔

๑. เวลานั่ง ให้กำหนดเป็น ๔ ระยะ คือ “พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ”เหมือนแบบฝึกหัดที่ ๓ แต่มีพิเศษออกไปอีกเฉพาะบทที่ว่า ถูกหนอ ๆ คือให้กำหนดซ้ำหลาย ๆ เที่ยว เช่น พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ ๆ๒. เวลานอน ให้กำหนดเป็น ๔ ระยะ คือ “พองหนอ ยุบหนอ นอนหนอ ถูกหนอ”๓. เวลายืน ให้กำหนดว่า “ยืนหนอ ยืนหนอ” เท่านั้น จนกว่าจะเดินหรือนั่ง๔. เวลาเดินจงกรม ให้เพิ่มระยะที่ ๔ “ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ” ให้เดินระยะที่ ๑ – ๓ ก่อนประมาณแบบล่ะ ๒๐ นาที แล้วให้เดินระยะที่ ๔ ประมาณ ๓๐ นาที ดังนี้(๑) กำหนดระยะที่ ๑ “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” ประมาณ ๒๐ นาที(๒) กำหนดระยะที่ ๒ “ยกหนอ เหยียบหนอ” ประมาณ ๒๐ นาที(๓) กำหนดระยะที่ ๓ “ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ” ประมาณ ๒๐ นาที(๔) กำหนดระยะที่ ๔ “ ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ” ประมาณ ๓๐ นาที

แบบฝึกหัดที่ ๕

๑.    เวลานั่ง ให้กำหนดเป็น ๔ ระยะ คือ “พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ” กายถูกที่ไหน ให้กำหนดที่นั่น ตัวอย่าง(๑) พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ หมายถึง ก้นกบซ้ายถูก(๒) พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ หมายถึง ก้นกบขวาถูก(๓) พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ หมายถึง เข่าซ้ายถูก(๔) พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ หมายถึง เข่าขวาถูก(๕) พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ หมายถึง ตาตุ่มซ้ายถูก(๖) พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ หมายถึง ตาตุ่มขวาถูก๒. เวลานอน ให้กำหนดเป็น ๔ ระยะ คือ “พองหนอ ยุบหนอ นอนหนอ ถูกหนอ”๓. เวลายืน ให้กำหนดว่า “ยืนหนอ ยืนหนอ” เท่านั้น จนกว่าจะเดินหรือนั่ง๔. เวลาเดินจงกรม ให้เพิ่มระยะที่ ๕ “ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ ถูกหนอ”ให้เดินระยะที่ ๑-๔ ก่อนประมาณแบบล่ะ ๒๐ นาที แล้วให้เดินระยะที่ ๕ ประมาณ ๒๐ นาที ดังนี้(๑) กำหนดระยะที่ ๑ “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” ประมาณ ๒๐ นาที(๒) กำหนดระยะที่ ๒ “ยกหนอ เหยียบหนอ” ประมาณ ๒๐ นาที(๓) กำหนดระยะที่ ๓ “ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ” ประมาณ ๒๐ นาที(๔) กำหนดระยะที่ ๔ “ ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ” ประมาณ ๒๐ นาที(๕) กำหนดระยะที่ ๕ “ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ ถูกหนอ”ประมาณ ๒๐ นาที

แบบฝึกหัดที่ ๖

๑. เวลานั่ง ให้กำหนดเป็น ๔ ระยะ คือ “พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ” ให้กำหนดดังนี้ คือ(๑) พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ หมายถึง ก้นกบซ้ายถูก(๒) พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ หมายถึง ก้นกบขวาถูก(๓) พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ หมายถึง เข่าซ้ายถูก(๔) พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ หมายถึง เข่าขวาถูก(๕) พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ หมายถึง ตาตุ่มซ้ายถูก(๖) พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ หมายถึง ตาตุ่มขวาถูก(๗) พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ หมายถึง จี้ไปตามตัวเป็นแห่ง ๆ ไป๒. เวลานอน ให้กำหนดเป็น ๔ ระยะ คือ “พองหนอ ยุบหนอ นอนหนอ ถูกหนอ”๓. เวลายืน ให้กำหนดว่า “ยืนหนอ ยืนหนอ” เท่านั้น จนกว่าจะเดินหรือนั่ง๔. เวลาเดินจงกรม ให้เพิ่มระยะที่ ๖ “ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ ถูกหนอ กดหนอ” ให้เดินระยะที่ ๑-๕ ก่อน ดังนี้(๑) กำหนดระยะที่ ๑ “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” ประมาณ ๕ นาที(๒) กำหนดระยะที่ ๒ “ยกหนอ เหยียบหนอ” ประมาณ ๕ นาที(๓) กำหนดระยะที่ ๓ “ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ” ประมาณ ๑๐ นาที(๔) กำหนดระยะที่ ๔ “ ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ” ประมาณ ๑๐ นาที(๕) กำหนดระยะที่ ๕ “ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ ถูกหนอ”ประมาณ ๑๐ นาที(๖) กำหนดระยะที่ ๖ “ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ ถูกหนอ กดหนอ”ประมาณ ๒๐ นาที

แบบฝึกหัดที่ ๗

๑. เมื่อเดินจงกรมไปสุดทางแล้ว หยุดยืนจะหันกลับเวลาหยุดให้กำหนดว่า “อยากหยุดหนอ อยากหยุดหนอ” เวลาจะกลับให้กำหนดว่า “อยากกลับหนอ อยากกลับหนอ” เวลากลับให้กำหนดว่า “กลับหนอ กลับหนอ” เวลายืนอยู่ให้กำหนดว่า “ยืนหนอ ยืนหนอ” แล้วจึงเดินและกำหนดเหมือนอย่างที่กล่าวแล้วต่อไป๒. เวลาจะเหลียวซ้ายแลขวาเป็นต้น ให้กำหนดว่า “อยากเหลียวหนอ” ขณะเหลียวให้กำหนดว่า “เหลียวหนอ”๓. เวลาจะคู้ จะเหยียด ให้กำหนดว่า “อยากคู้หนอ อยากเหยียดหนอๆ” ขณะคู้เหยียดให้กำหนดว่า “คู้หนอ ๆ เหยียดหนอ ๆ”๔. เวลาจะจับสิ่งของต่าง ๆ เช่น ผ้านุ่ง ผ้าห่ม บาตร ถ้วย โถ จาน ชาม ให้กำหนดว่า “เห็นหนอ อยากจับหนอ” ขณะยื่นมือไปให้กำหนดว่า “ยื่นหนอ ๆ” ขณะจับให้กำหนดว่า “จับหนอ” ขณะจับของแล้วหยิบยกมา ให้กำหนดว่า “มาหนอ มาหนอ” เป็นต้น๕. เวลาจะบริโภคอาหาร ดื่ม เคี้ยว รู้รส กลืน ให้กำหนดทำนองเดียวกัน ตัวอย่าง-           ขณะเห็นอาหาร           ให้กำหนดว่า         “เห็นหนอ ๆ”-           ขณะอยาก                   ให้กำหนดว่า         “อยากหนอ ๆ”-           ขณะยื่นมือไป              ให้กำหนดว่า         “ไปหนอ ๆ”-           ขณะมือถูก                  ให้กำหนดว่า         “ถูกหนอ ๆ”-           ขณะจับ                       ให้กำหนดว่า         “จับหนอ ๆ”-           ขณะยกขึ้น                  ให้กำหนดว่า         “ยกหนอ ๆ”-           ขณะอ้าปาก                 ให้กำหนดว่า         “อ้าหนอ ๆ”-           ขณะถูกปาก                ให้กำหนดว่า         “ถูกหนอ ๆ”-           ขณะเคี้ยว                    ให้กำหนดว่า         “เคี้ยวหนอ-           ขณะกลืน                     ให้กำหนดว่า         “กลืนหนอ ๆ”-           ขณะหมด                    ให้กำหนดว่า    “หมดหนอ ๆ”๖. เวลาถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ให้กำหนดว่า “อยากถ่ายหนอ” กำลังถ่าย ให้กำหนดว่า “ถ่ายหนอ ๆ”๗. เวลาจะเดิน ยืน นั่ง จะหลับ ตื่น พูด นั่ง ให้กำหนดว่า “อยากเดินหนอ อยากยืนหนอ อยากนั่งหนอ อยากหลับหนอ ตื่นหนอ อยากพูดหนอ นิ่งหนอ”

แบบฝึกหัดที่ ๘

–           ขณะเห็น                      ให้กำหนดว่า    “เห็นหนอ ๆ”-           ขณะได้ยิน                   ให้กำหนดว่า    “ได้ยินหนอ ๆ”-           ขณะได้กลิ่น                ให้กำหนดว่า    “ได้กลิ่นหนอ ๆ”-           ขณะได้ลิ้มรส               ให้กำหนดว่า    “รสหนอ ๆ”-           ขณะกายถูกต้อง          ให้กำหนดว่า    “ถูกหนอ ๆ”-           ขณะคิด                       ให้กำหนดว่า    “คิดหนอ ๆ”

แบบฝึกหัดที่ ๙

๑. ขณะที่นั่งกำหนดว่า “พองหนอ ยุบหนอ” ถ้าทุกขเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ให้หยุดกำหนดว่า “พองหนอ ยุบหนอ” นั้นไว้ก่อน แล้วไปกำหนดทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นนั้น เช่น เจ็บหนอ เมื่อย เป็นต้น ให้กำหนดว่า “ปวดหนอ ๆ เหมื่อยหนอ ๆ เจ็บหนอ ๆ” ถ้าเวทนาแรงทนไม่ได้ ให้หยุดกำหนดเวลานั้นเสีย กลับไปกำหนดว่า “พองหนอ ยุบหนอ” ต่อ ถ้าเวทนายไม่หายจึงพลิกหรือเปลี่ยนอิริยาบถเสีย๒. ถ้าความสบายเกิดขึ้น ให้กำหนดว่า “สบายหนอ สบายหนอ”๓. เวลานอน เวลายืน ถ้าความสบายก็ดี ความไม่สบายก็ดี หรือความเฉย ๆ ก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ให้กำหนดไปตามอย่างนั้นว่า “สบายหนอ ไม่สบายหนอ เฉย ๆ หนอ”ถ้าเวทนาเกิดขึ้นในขณะเดินจงกรม ให้หยุดเดินก่อนแล้วให้กำหนดเวทนาตามนัยที่กล่าวมาหมายเหตุ        เวลานิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง มีแสงสว่างหรือรูปภูเขาเป็นต้นปรากฏทางใจ ให้กำหนดว่า “เห็นหนอ ๆ” จนกว่านิมิตนั้นจะหายไป

แบบฝึกหัดที่ ๑๐

๑. ถ้าเกิดความอยากได้อะไรขึ้น ให้กำหนดว่า “อยากได้หนอ ๆ” หรือว่า “โลภะหนอ ๆ”๒. ถ้าระหว่างที่นั่ง หรือนอนเกิดความไม่ชอบขึ้น อยากจะลุกขึ้นก็ดี หรือเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วไม่ชอบใจก็ดี ให้กำหนดว่า “ไม่ชอบหนอ ๆ” หรือ “โทสะหนอ ๆ”๓. ถ้าง่วงนอน ให้กำหนดว่า    “ง่วงหนอ ๆ”๔. ถ้าจิตฟุ้งซ่าน          ให้กำหนดว่า    “ฟุ้งหนอ ๆ”๕. ถ้าสงสัย      ให้กำหนดว่า    “สงสัยหนอ ๆ”๖. ถ้าความโลภ ความโกรธ ความฟุ้งซ่าน ความสงสัยเป็นต้น จางหายไปก็ให้กำหนดรู้เช่นกัน๗. เวลาเดินจงกรม ถ้าจิตเกิดฟุ้งขึ้นมา ให้หยุดเดินแล้วกำหนดว่า “ฟุ้งหนอ ๆ” เมื่อความฟุ้งนั้นหายไป จึงเดินจงกรมต่อไป

แบบฝึกหัดที่ ๑๑

๑.    ถ้าจิตพอใจต่อรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส พึงรู้ว่า เป็นความยินดีของกามคุณทั้ง ๕ให้กำหนดว่า “ยินดีหนอ ๆ”๒. เมื่อจิตคิดเบียดเบียนเกิดขึ้น พึงรู้ว่าเป็นโทสะ หรือพยาบาท ให้กำหนดว่า“โทสะหนอ ๆ” หรือ “พยาบาทหนอ ๆ”๓. เมื่อจิตง่วงเหงาหดหู่ พึงรู้ว่าเป็นถีนมิทธะ ให้กำหนดว่า “ง่วงหนอ ๆ”๔. ถ้าจิตฟุ้งซ่าน รำคาญ เสียใจ พึงรู้ว่าเป็นอุทธัจจกุกกุจจะ ให้กำหนดว่า “ฟุ้งหนอ ๆ”๕. เมื่อความสงสัยในรูปนาม ปรมัตถ์ บัญญัติ เกิดขึ้น พึงรู้ว่าเป็นวิจิกิจฉา ให้กำหนดว่า “สงสัยหนอ ๆ”

แบบฝึกหัดที่ ๑๒

๑. เวลานั่ง ให้กำหนดว่า “อยากนั่งหนอ ๆ” แล้วจึงค่อย ๆ ย่อตัวลงเป็นระยะ ๆ พร้อมกับกำหนดว่า “นั่งหนอ ๆ” จนกว่าจะถึงพื้น กำหนดให้ได้ประมาณ ๘-๑๐ ระยะ๒. เมื่อกำหนด พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ แล้วเกิดอาการคันขึ้น ให้กำหนดว่า “คันหนอ ๆ” เมื่อกำหนดแล้วยังไม่หายคัน อยากจะเกาให้กำหนดว่า “อยากเกาหนอ” เวลามือเคลื่อนไปจะเกาให้กำหนดตามไปเป็นระยะ ๆ ว่า “ไปหนอ ๆ” เวลามือถูก ให้กำหนดว่า “ถูกหนอ ๆ” ขณะเกาให้กำหนดว่า “เกาหนอ ๆ” เมื่ออาการคันนั้นหายไปให้กำหนดว่า “หายหนอ ๆ” เมื่อจะเอามือลงให้กำหนดเป็นระยะๆ ว่า “ลงหนอ ๆ” จนกว่าจะวางมือแล้วตั้งต้นกำหนดว่า “พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ” ต่อไป

แบบฝึกหัดที่ ๑๓วันที่ ๑

           ๑.ให้ตั้งใจอธิษฐานว่า ถ้าธรรมวิเศษได้เกิดขึ้นในขันธสันดานแล้วขออย่าให้เกิดอีกถ้าธรรมวิเศษยังไม่เกิดขึ้นขอให้เกิดขึ้น คือให้ได้เห็นธรรมวิเศษภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้ จะเริ่มตั้งใจอธิฐานเวลาใดก็ได้แต่ต้องให้ถึง ๒๔ ชั่วโมง            ๒. เมื่อตั้งใจอธิฐานแล้วให้เดินจงกรมก่อนแล้วนั่งกำหนดว่า “พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ” เหมือนที่อธิบายมาแล้วทำสลับกันไปจนถึง ๒๔ ชั่วโมง

วันที่ ๒

เดินจงกรมแล้ว อธิฐานว่า “ภายใน ๒๔ ชั่วโมงขอให้เกิดความเกิดดับขึ้นให้มาก” แล้วกำหนดพองยุบต่อไป

แบบฝึกหัดที่ ๑๔

            ๑. ให้เดินจงกรมก่อน แล้วปฏิบัติต่อไป                     ๑.๑. ให้อธิฐานคราวล่ะ ๑ ชั่วโมงว่า ขอให้อาการเกิดดับจงปรากฏขึ้นหลาย ๆ ครั้ง อย่างต่ำที่สุดหนึ่งชั่วโมงต่อ ๕ ครั้ง               ๑.๒. ถ้าภายใน ๑ ชั่วโมง อาการเกิดดับนั้นยังไม่ปรากฏได้ชัดแจ้งและถี่ขึ้น อย่างต่ำ ๑ ชั่วโมง ๕ ครั้ง อย่างสูง ๑ ชั่วโมง ต่อ ๖๕ ครั้ง เมื่อเป็นเช่นนี้ ให้ลดเวลาอธิฐานลงเพียง ๓๐ นาที คือให้อธิษฐานว่าภายใน ๓๐ นาทีนี้ ขอให้อาการเกิดดับนั้นปรากฎขึ้นหลาย ๆ ครั้ง                     ๑.๓.ให้อธิฐานโดยทำนองนั้น แล้วลดไปจนถึง ๑๕ ๑๐ ๕ นาที ภายใน ๕ นาที อาการเกิดดับ อาจจะปรากฏขึ้นถึง ๖ ครั้ง หรือ ๑ ครั้งเป็นอย่างต่ำ            ๒. นั่งสมาธิให้ได้ ๑ ชั่วโมง จึงค่อยเปลี่ยนอิริยาบถอื่น            ๓. ให้ทำสลับกันไปอย่างนี้ จนครบ ๒๔ ชั่วโมง

แบบฝึกหัดที่ ๑๕

            ๑. ให้เดินจงกรมก่อน แล้วนั่งอธิฐานว่า ขอให้ได้สมาธิแน่นิ่งไปถึง ๕ นาที แล้วกำหนดว่า “พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ” จิตจดจ่ออยู่กับอารมณ์ แล้วดับนั่งไปได้จนครบ ๕ นาที จึงจะเป็นอันถูกต้อง ถ้าตรวจดูนาฬิกาเห็นว่า ยังไม่ถึงให้พยายามทำจนถึง ๕ นาที ถ้าเกินไปยิ่งไป            ๒. ให้อธิฐานให้ได้สมาธิแน่นิ่งไปถึง ๑๐ นาที ถ้ายังไม่ได้ ให้พยายามทำจนได้อย่างชำนาญแล้วจึงฝึกทำต่อไปทีละขั้น ๆ ดังนี้ คือ ๑๕ นาที ๒๐ นาที ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมง ๑ ชั่วโมงกับ ๓๐ นาที ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๗ ชั่วโมง ตามลำดับถึง ๒๔ ชั่วโมง           ๓. การคำนวณนาทีหรือชั่วโมงนั้น ให้ตั้งตนแต่ขณะที่แน่นิ่งไป ขณะที่แน่นิ่งไปนั้น จะไม่รู้สึกสัมผัสใด ๆ เหมือนหลับแต่ไม่ใช่หลับ เมื่อถึงกำหนดที่อธิษฐานไว้ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง เหมือนตื่นแต่ไม่ใช่ตื่น

แบบฝึกหัดที่ ๑๖

            สำหรับผู้ปฏิบัติวิปัสสนาดีแล้ว ประสงค์จะเป็นครูสอนต่อไป พึงฝึกหัดปฏิบัติพิเศษ ดังนี้ครั้งที่ ๑ ให้ทำ ๑ วัน            ๑. ให้เดินจงกรมก่อน แล้วจึงนั่งเข้าที่ แล้วอธิษฐานว่า ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้ ขอให้รูปนามที่เกิดดับปรากฏชัด แล้วกำหนดว่า “พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ” จนครบ ๑ ชั่วโมง เมื่อกำหนดอยู่อย่างนี้จะเห็นอาการเกิดดับของรูปนามชัดขึ้นกว่าแต่ก่อนนี้เรียกว่า อุทยัพพยญาณ            ๒. ในชั่วโมงที่ ๒ ให้อธิฐานว่า ภายใน ๑ ชั่วโมง ขอให้เห็นแต่รูปนามที่ดับไป ๆ แล้วกำหนดว่า “พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ” จนครบ ๑ ชั่วโมง เมื่อกำหนดอยู่อย่างนี้ จักเห็นแต่ความดับของรูปนามอย่างเดียว คือ อาการดับของรูปนาม จะปรากฏชัดแจ่มแจ้งกว่าแต่ก่อนนี้ เรียกว่า ภังคญาณ

ครั้งที่ ๒ ให้ทำ ๑ วัน

            ๑. ให้เดินจงกรมก่อน แล้วจึงนั่งเข้าที่ แล้วอธิษฐานว่า ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้ ขอให้ภยญาณเกิดขึ้น แล้วกำหนดว่า “พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ” จนครบ ๑ ชั่วโมง ในขณะที่กำหนดอยู่อย่างนี้จะมีอาการเกิดความกลัวขึ้น นี้เรียกว่า ภยญาณ            ๒. ในชั่วโมงที่ ๒ ให้อธิฐานว่า ภายใน ๑ ชั่วโมง ขอให้อาทีนวญาณเกิดขึ้น แล้วกำหนดว่า “พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ” จนครบ ๑ ชั่วโมง ในขณะที่นั่งกำหนดอยู่นี้จะเห็นโทษของรูปนามนานาประการ เช่น เจ็บ ปวด ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นต้น นี้เรียกว่า อาทีนวญาณ            ๓. ในชั่วโมงที่ ๓ ให้อธิฐานว่า ภายใน ๑ ชั่วโมง ขอให้นิพพาญาณเกิดขึ้น แล้วกำหนดว่า “พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ” จนครบ ๑ ชั่วโมง ในขณะที่นั่งกำหนดอยู่นี้จะเกิดความเบื่อหน่ายเกิดขึ้น คือจะเห็นรูปนามนี้เต็มไปด้วยของปฏิกูลน่าเกลียด มีแต่ทุกข์ มีแต่โทษ ไม่น่ายินดี น่าเบื่อหน่าย เป็นต้น นี้เรียกว่า นิพพิทาญาณ

ครั้งที่ ๓ ให้ทำ ๑ วัน

            ๑. ให้เดินจงกรมก่อน แล้วจึงนั่งเข้าที่ แล้วอธิษฐานว่า ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้ ขอให้ มุญจิตุกัมยตาญาณเกิดขึ้น แล้วกำหนดว่า “พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ” จนกว่าจะครบ ๑ ชั่วโมง ในขณะที่กำหนดอยู่อย่างนี้จะมีอาการอยากหนี อยากพ้น เกิดขึ้นโดยลำดับ นี้เรียกว่า มุญจิตุกัมยตาญาณ            ๒. ในชั่วโมงที่ ๒ ให้อธิฐานว่า ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้ ขอให้ปฏิสังขาญาณเกิดขึ้น แล้วให้กำหนดว่า “พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ” จนครบ ๑ ชั่วโมง ในขณะที่นั่งกำหนดอยู่นี้จะมีอาการพยายามคำความเพียรหาทางหนีทางพ้นเกิดขึ้นโดยลำดับ นี้เรียกว่า ปฏิสังขาญาณ

            ๓. ในชั่วโมงที่ ๓ ให้อธิฐานว่า ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้ สังขารุเปกขาญาณเกิดขึ้น แล้วกำหนดว่า “พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ” จนครบ ๑ ชั่วโมง ในขณะที่นั่งกำหนดอยู่นี้จะมีอาการวางเฉยในรูปนาม นี้เรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ

            จากบทฝึกหัด การปฏิบัติวิปัสสนาทั้ง ๑๖ บทนั้น เป็นหลักการที่พระวิปัสสนาจารย์สำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ รุ่นบุกเบิกได้จัดวิธีการปฏิบัติไว้แบบกว้างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ซึ่งพระวิปัสสนาจารย์รุ่งหลังสามารถจัดการฝึกปฏิบัติตามบทเรียนที่กล่าวมา ตามความเหมาะสมได้ แต่พระวิปัสสนาจารย์นั้นต้องเป็นบุคคลที่เคยผ่านการปฏิบัติวิปัสสนามาแล้ว และผ่านการฝึกอบรมวิชาครูด้านวิปัสสนาแล้ว ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถจัดการเรียน การปฏิบัติให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพได้ ดังนั้น การปฏิบัติวิปัสสนาในแบบพองหนอ ยุบหนอนี้สำคัญที่ “ครูฝึกผู้เป็นกัลยาณมิตร”