ประโยชน์ของวิปัสสนา

ประโยชน์ของวิปัสสนา คือ ทำให้ผู้ปฏิบัตินั้นเข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริงที่มีอยู่ ได้แก่ เห็นว่ารูปนามมีสภาพที่ไม่เที่ยง มีสภาพที่เป็นทุกข์ทนได้ยาก มีสภาพที่เป็นอนัตตา ไม่มีใครเป็นผู้บังคับบัญชา ไม่ใช่ว่าวิปัสสนาทำขึ้นมาให้เห็นหรือไปนั่งวิปัสสนาแล้วสร้างไตรลักษณ์ขึ้นมาให้เห็นว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างนี้หามิได้ เพราะว่ารูปนามที่เป็นไตรลักษณ์มีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้เฝ้าสังเกตดูจึงไม่เห็น หรือ เฝ้าสังเกตดูแต่ทำไม่ถูกวิธี ก็ไม่เห็นเช่นเดียวกัน

ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาปฏิบัติในเรื่องของวิปัสสนา มักเข้าใจผิด เช่น นั่งหลับตาเห็นพระอินทร์ พระพรหม เห็นเทวดา เห็นนรก สวรรค์ เห็นเลขหวย เห็นลอตเตอร์รี่ เป็นตัน ก็เข้าใจว่าเห็นโดยวิปัสสนาหรือการเหาะเหินเดินอากาศได้ เดินบนน้ำได้ ดำดิน หายตัว ตาทิพย์ หูทิพย์ เหล่านี้เป็นต้น ไม่ใช่ประโยชน์วิปัสสนา การกระทำเหล่านั้นเป็นผลสมาธิเท่านั้น ประโยชน์ของวิปัสสนามีเพียงอย่างเดียว คือ ทำลายอาสวะกิเลส ได้แก่ ตัณหามานะทิฏฐิ อันเป็นมูลของสังสารวัฎให้หมดสิ้นไป มีหน้าที่ชำระอาสวะกิเลสให้หมดไปเท่านั้น ไม่ได้มีอิทธิปาฏิหาริย์อะไรทั้งสิ้น

การปฏิบัติวิปัสสนาหรือสติปัฏฐาน ๔ (The four foundations of mindfulness) นี้ เป็นวิชาที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ เป็นวิชาที่ไม่ลึกลับ ไม่ใช่ของยากและก็ไม่ง่ายนัก เป็นสิ่งที่ทำได้ทุกเพศทุกวัย ไม่จำกัดด้วยกาล ด้วยสถานที่ และผู้ปฏิบัติพึงรู้ได้ด้วยตนเอง ได้ผลทันตาเห็น ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า โรงเรียน และตำราที่ใช้ศึกษาและปฏิบัติก็คือร่างกายของเรา ที่ยาววา หนาคืบ กว้างศอก มีสัญญาใจครอง นี่เอง

การปฏิบัติวิปัสสนาเป็นยอดของการบูชา เป็นการปฏิบัติตามรอยยุคลบาทของพระพุทธองค์ เป็นทางนำไปสู่ความดับสงบระงับสังขาร “สังขารที่สงบเท่านั้น ที่เป็นสุข สุขอื่นใดจะเสมอเหมือนไม่ได้” นี้คือสัจจะธรรมเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรมาทำลายได้ ทุกยุคทุกสมัย “อานนท์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ใดก็ตามปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรมอยู่ ผู้นั้น ชื่อว่าได้ สักการะ เคารพ นับถือ บูชา (เรา) ตถาคต ด้วยการบูชาอย่างสูงสุด อานนท์ เพราะฉะนั้น เธอพึงกำหนดในใจว่า เราจะปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรมอยู่” (มหาปรินิพพานสูตร มหาที. ๑๐/๑๕๙)